วันเสาร์ที่ 22 มีนาคม พ.ศ. 2557

การทานอาหารให้ถูกต้องในแต่ละช่วงอายุ

การทานอาหารให้ถูกต้องในแต่ละช่วงอายุ

ใครเคยรู้บ้างว่าช่วงอายุของคนเรานั้นต้องทานอาหารในแต่ละประเภทอย่างไรบ้าง ถึงจะมีประโยชน์ต่อร่างกายในช่วงวัยนั้นๆ บทความด้านล่างคงจะช่วยตอบสำหรับคำถาม "เราจะเลือกทานอาหารในแต่ละช่วงวัย อย่างไร?" ได้ดีที่เดียวล่ะ อย่าลืมนะว่าอาหารเป็นสิ่งที่หล่อเลี้ยงร่างกายเราทุกส่วน มันสำคัญจริงๆ
การรับประทานอาหารดีมีประโยชน์ ย่อมส่งผลดีต่อสุขภาพร่างกาย อย่างไรก็ตาม ในแต่ละช่วงวัยจะมีความต้องการสารอาหารแต่ละชนิดแตกต่างกันไป มาดูกันว่าในแต่ละวัยควรเน้นกินอะไรกันดีกว่า

ช่วง 20++
วัยนี้เป็นวัยที่มีการพัฒนาและเจริญเติมโตของกล้ามเนื้อ โครงสร้าง และอวัยวะต่างๆ เต็มที่ โภชนาการของวัยนี้ควรให้มีความสมดุลของสารอาหารต่างๆ ให้มีความพอเพียงกับความต้องการของร่างกายเพื่อสร้างสุขภาพที่ดีซึ่งจะเป็นรากฐานของสุขภาพในอนาคต

สิ่งที่ควรเน้นเป็นพิเศษ
แคลเซียม ในวัยหนุ่มสาวปริมาณมวลกระดูกจะยังเพิ่มได้อีกเล็กน้อยจนมีปริมาณมวลกระดูกสูงสุดในช่วงอายุระหว่าง 20-35 ปี ดังนั้น ในช่วงวัยนี้เป็นช่วงที่ควรเสริมสร้างกระดูกให้แข็งแรง เพื่อเป็นพื้นฐานสุขภาพกระดูกที่ดีในอนาคต แนะนำให้เสริมความแข็งแรงของกระดูกด้วยอาหารที่เป็นแหล่งของแคลเซียม เช่น นมและผลิตภัณฑ์นม ชีส โยเกิร์ต เต้าหู้ คะน้า
ธาตุเหล็ก เนื่องจากธาตุเหล็กเป็นส่วนประกอบสำคัญของฮีโมโกลบินในเม็ดเลือดแดง หากร่างกายได้รับธาตุเหล็กไม่เพียงพอจะทำให้เกิดโรคโลหิตจาง มีอาการเหนื่อยง่าย อ่อนเพลีย หรือมึนศีรษะได้ โดยเฉพาะผู้หญิงที่มีการเสียเลือดระหว่างช่วงมีประจำเดือน ผู้หญิงในวัยนี้จึงต้องการได้รับธาตุเหล็กให้เพียงพอ อาหารที่เป็นแหล่งของธาตุเหล็ก ได้แก่ เนื้อสัตว์ ตับ ไข่ นอกจากนี้ ควรรับประทานอาหารที่มีวิตามินซี เช่น ผักผลไม้ จะช่วยในการดูดซึมธาตุเหล็กได้ดีขึ้น



ช่วง 30++
วัยนี้บางคนยุ่งกับการทำงาน บางคนก็อาจจะเอาใจใส่ดูแลลูกๆ จะเริ่มรู้สึกเหนื่อยล้าได้ง่ายหรือไม่ฟิตเหมือนเมื่อก่อน ผิวพรรณเริ่มหย่อนคล้อย และระบบเผาผลาญก็เริ่มลดประสิทธิภาพลง

สิ่งที่ควรเน้นเป็นพิเศษ
แคลเซียม เมื่อเข้าสู่วัยผู้ใหญ่และวัยสูงอายุ ปริมาณมวลกระดูกจะเริ่มลดลง เนื่องจากมีอัตราการสลายกระดูกมากกว่าการสร้างกระดูก จึงควรใส่ใจการกินอาหารที่เป็นแหล่งของแคลเซียมอย่างเพียงพอและต่อเนื่อง จะช่วยลดความเสี่ยงโรคกระดูกพรุน
คาร์โบโฮเดรตเชิงซ้อน ได้แก่ ธัญพืชเต็มเมล็ดหรือโฮลเกรน ข้าวกล้อง ที่มีทั้งวิตามิน แร่ธาตุ และใยอาหาร ช่วยลดความเสี่ยงโรคเบาหวานและโรคอ้วนได้
อาหารที่มีสารต้านอนุมูลอิสระ ได้แก่ อาหารที่มีวิตามินซีและอี ซึ่งช่วยชะลอความเสื่อมของร่างกาย หรือช่วยต้านความแก่นั่นเอง
                                           

ช่วง 40++
เมื่ออายุมากขึ้น ระบบเผาผลาญของร่างกายจะลดลง แถมในวัยนี้มีการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมน ผู้หญิงบางคนประจำเดือนเริ่มมาไม่สม่ำเสมอ บางคนก็หมดประจำเดือนแล้วเข้าสู่ช่วงวัยทองหรือวัยหมดประจำเดือน ซึ่งอาจส่งผลให้ประสิทธิภาพการทำงานของร่างกายลดลง

สิ่งที่ควรเน้นเป็นพิเศษ
โปรตีนที่มีคุณภาพสูงและให้พลังงานต่ำ เช่น เนื้อปลา เนื้อสัตว์ไม่ติดมัน ไม่ติดหนัง ไข่ขาว เป็นต้น
โอเมก้าสาม งานวิจัยจำนวนมากค้นพบว่าโอเมก้าสามมีประโยชน์ต่อร่างกาย ทั้งช่วยลดระดับโคเลสเตอรอลและไตรกลีเซอไรด์ ช่วยลดความเสี่ยงโรคหัวใจและหลอดเลือด แหล่งที่พบโอเมก้าสาม ได้แก่ ปลาชนิดต่างๆ เช่น แซลมอน ทูน่า แม็คเคอเรล ซาร์ดีน ปลาทู
ไฟโตเอสโตรเจน เหมาะสำหรับหญิงวัยหมดประจำเดือน ไฟโตเอสโตรเจนเป็นสารที่พบในถั่วเหลือง มีบทบาทคล้ายฮอร์โมนเพศหญิง การกินถั่วเหลืองหรือดื่มนมถั่วเหลืองเป็นประจำจะช่วยลดอาการต่างๆ เช่น อาการร้อนวูบวาบของหญิงวัยหมดประจำเดือน
สังกะสี การขาดสังกะสีจะทำให้ความสามารถในการรับรสลดลง และภูมิคุ้มกันลดลงได้ อาหารที่เป็นแหล่งของสังกะสี เช่น เนื้อสัตว์ ปลา ถั่วต่างๆ และธัญพืช นอกจากนี้ สังกะสียังมีคุณสมบัติเป็นสารต้านอนุมูลอิสระ ช่วยชะลอความเสื่อมของร่างกายอีกด้วย
                                
                               

วันศุกร์ที่ 21 มีนาคม พ.ศ. 2557

เทคนิคการวิ่งอย่างถูกวิธี

เทคนิคการวิ่งอย่างถูกวิธี

ร่างกายของคนเรานั้นถูกออกแบบมาให้ต้องเคลื่อนไหวอยู่ตลอดเวลา แต่ปัจจุบันพวกเราเปลี่ยนแปลงวิธีการใช้ชีวิตไปมาก อุปกรณ์ต่างๆ ถูกคิดค้นขึ้นมาเพื่ออำนวยความสะดวกให้กับมนุษย์มากขึ้น อย่างจะเปลี่ยนช่องทีวีซักทีก็ต้องมีรีโมต ทำให้ไม่ต้องลุกขึ้นมาเดินเพื่อเคลื่อนไหวและออกแรง ทำให้โรคภัยไข้เจ็บตามมามากมาย

"การวิ่ง" เป็นวิธีการออกกำลังกายแบบง่ายๆ แต่มีประโยชน์ต่อร่างกายมากเลยทีเดียว สามารถป้องกันโรคหัวใจ สร้างภูมิคุ้มกันให้กับร่างกาย เพิ่มความแข็งแรงให้กับกล้ามเนื้อ ดังนั้น เรามาเรียนรู้วิธีการวิ่งอย่างถูกวิธีเพื่อให้การออกกำลังกายของเรานั้นได้รับประโยชน์สูงสุดกันดีกว่า
  • ควรวิ่งโดยใช้แรงจากโคนขาไม่ควรลงด้วยปลายเท้า
  • วิ่งให้ยาวๆ จนกว่ากล้ามเนื้อจะเมื่อยล้า กล้ามเนื้อจะใช้พลังจาก ไกลโคเจน เมื่อไกลโคเจนหมดกล้ามเนื้อจะเริ่มสะสมและเริ่มสร้างขึ้นมาใหม่ ซึ่งจะมีการสะสมที่มากกว่าเดิม ทำให้เราวิ่งได้ไกลขึ้น
  • วิ่งเร็วๆ อย่างน้อยอาทิตย์ละครั้ง การวิ่งเร็วๆ จะทำให้ร่างการทำงานหนักจนรับออกซิเจนไม่เพียงพอ ทำให้ต้องไปใช้วิธีให้พลังงานแบบไม่ใช้ออกซิเจน ด้วยเหตุนี้เองจึงทำให้เล้นเลือดที่ไปเลี้ยงหัวใจขยายใหญ่ขึ้น ทำให้เป็นการป้องกันการเป็นโรคหัวใจไปในตัวตามวิถีธรรมชาติ
  • เวลาวิ่งให้หายใจโดยใช้กระบังลม ทุกวันนี้ด้วยชีวิตที่เร่งรีบทำให้คนส่วนใหญ่หายใจแบบตื้นๆ และสั้นๆ ซึ่งไม่ใช่การหายใจที่ถูกต้อง ให้เปลี่ยนมาฝึกหายใจโดยใช้กระบังลม เพื่อให้การหายใจของเรานั้นลึกขึ้น และยาวขึ้น หรืออาจจะฝึกโดยการนอนหงายและนำหนังสือมาวางไว้บนหน้าท้อง สังเกตว่าถ้าหนังสือขยับขึ้นก่อนสูดลมหายใจเข้า และลดลงก่อนหายใจออกเป็นอันว่าใช้ได้

วันพฤหัสบดีที่ 20 มีนาคม พ.ศ. 2557

"ประกาศ เดินหน้าเต็มรูปแบบ"

ประกาศเดินหน้าเต็มรูปแบบ

หลังจากห่างหายจากการดูแลบล็อกไปนาน วันนี้ผมพร้อมแล้วที่จะมาพัฒนาคลับสุขภาพให้

เป็นบล็อกที่มีคุณภาพและมีประโยชน์ต่อผู้ที่สนใจการดูแลสุขภาพอย่างเต็มที่


วทัญญู พุทธสะระ

    20 มีนาคม 2557