วันเสาร์ที่ 25 ตุลาคม พ.ศ. 2557

ลมหนาวมาแล้ว ระวังเสี่ยงป่วยไข้หวัดใหญ่


    กรมอนามัย ห่วงลมหนาวทำคนไทยเสี่ยงป่วยไข้หวัดใหญ่ แนะดูแลสุขภาพ (กระทรวงสาธารณสุข)

              กรมอนามัย ห่วง สุขภาพคนไทยในช่วงฤดูหนาว โดยเฉพาะเด็กเล็ก ผู้สูงอายุเสี่ยงเจ็บป่วยง่าย โดยเฉพาะโรคไข้หวัดใหญ่ แนะดูแลสุขภาพเป็นพิเศษ หมั่นออกกำลังกาย กินอาหารร้อน สร้างความอบอุ่นให้ร่างกาย
              เมื่อวันที่ 17 ตุลาคม 2557 ดร.นพ.พรเทพ ศิริวนารังสรรค์ อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า ในช่วงฤดูหนาวอากาศเริ่มเย็นลง ทำให้เสี่ยงเจ็บป่วยได้ง่าย โดยเฉพาะคนไทยกลุ่มเด็กเล็กและผู้สูงอายุควรดูแลสุขภาพร่างกายเป็นพิเศษ เพื่อป้องกันโรคระบบทางเดินหายใจ และไข้หวัดใหญ่ เพราะหากเกิดในช่วงหน้าหนาวอาจกลายเป็นโรคหลอดลมอักเสบและโรคปอดบวมได้ 

              โดยเฉพาะไข้หวัดใหญ่ จากรายงานสถานการณ์ของสำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม–13 ตุลาคม 2557 พบผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่ 56,280 ราย คิดเป็นอัตราป่วย 87.83 ต่อประชากรแสนคน โดยมีรายงานผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่เสียชีวิต 63 ราย ซึ่งอาการของคนเป็นโรคไข้หวัดใหญ่จะเริ่มมีอาการไข้สูง หนาวสั่น ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยตามกล้ามเนื้อ ไอ เมื่อมีอาการควรนอนพักผ่อนให้มาก ดื่มน้ำบ่อย ๆ ถ้าตัวร้อนมากควรใช้ผ้าชุบน้ำอุ่นเช็ดตัวหรือกินยาลดไข้ อาการจะค่อย ๆ ดีขึ้น ภายใน 2–7 วัน แต่หากมีอาการไอมากขึ้น หรือมีไข้สูงนานเกิน 2 วัน ควรไปพบแพทย์

              ดร.นพ.พรเทพ กล่าวต่อไปว่า การสร้างความอบอุ่นให้กับร่างกาย จึงเป็นสิ่งสำคัญด้วยการออกกำลังกายซึ่งสามารถทำได้สม่ำเสมอ อาทิ เดินเร็ว วิ่งเหยาะ ขี่จักรยาน เล่นกีฬาที่มีการเคลื่อนไหวอย่างต่อนเอง รำมวยจีน หรือทำงานบ้าน กวาดบ้าน ถูบ้าน เป็นการเริ่มต้นออกกำลังกาย ควรเริ่มจากเบา ๆ ระยะเวลาน้อย ๆ แล้วค่อย ๆ เพิ่มเวลาขึ้นเรื่อย ๆ ในแต่ละสัปดาห์ เพื่อให้ร่างกายปรับตัว จากนั้นจึงเพิ่มความแรงหรือความหนักและการออกกำลังกายในแต่ละครั้ง โดยไม่จำเป็นต้องหนักและเหนื่อยมาก จนรู้สึกหายใจเร็ว และไม่ต้องถึงกับหอบอย่างน้อยสัปดาห์ละ 5 วัน ๆ ละ 30 นาที ก็เพียงพอที่จะเกิดภูมิคุ้มกัน 

              ที่สำคัญควรนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ กินอาหารที่มีประโยชน์ โดยเฉพาะประเภทผัก และผลไม้สดที่มีวิตามินซีสูง เช่น ส้ม ฝรั่ง จะมีส่วนช่วยในการสร้างภูมิคุ้มกันโรคระบบทางเดินหายใจและป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ อีกทั้งควรกินอาหารปรุงสุก อุ่นให้ร้อน เพื่อเพิ่มอุณหภูมิความร้อนให้กับร่างกายเพื่อคลายหนาวได้อีกทางหนึ่ง ทำให้มีสุขภาพที่ดีตลอดไป

              "สำหรับคุณแม่มือใหม่ต้องดูแลลูกเป็นพิเศษ เพราะสภาพอากาศที่หนาวเย็นอาจทำให้ลูกปากแห้งแตก จึงควรให้ลูกดื่มนมจากเต้าบ่อย ๆ วันละ 6–8 ครั้ง เนื่องจากนมแม่เป็นสารอาหารที่สำคัญและสร้างภูมิคุ้มกัน และต้านทานโรคที่ดีที่สุดให้กับทารก ช่วยเพิ่มความแข็งแรงให้กับระบบทางเดินหายใจ อีกทั้งยังกำจัดเชื้อโรคแบคทีเรียและไวรัสที่ติดอยู่บนเยื่อบุทางเดินหายใจ ทำให้เชื้อโรคเข้าสู่ร่างกายได้ยากขึ้น และในช่วงที่แม่ให้นมลูกอ้อมกอดของแม่จะช่วยสร้างความอบอุ่นให้กับลูกด้วย ส่วนผู้สูงอายุควรหลีกเลี่ยงการอาบน้ำในเวลากลางคืน หรือถ้าไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ควรยืดเส้นยืดสายเพื่อสร้างความอบอุ่นให้กับร่างกายก่อนอาบน้ำ และสวมเสื้อผ้าที่มิดชิด" อธิบดีกรมอนามัย กล่าวในที่สุด



วันพฤหัสบดีที่ 23 ตุลาคม พ.ศ. 2557

น้ำ...ขาดไม่ได้เมื่อออกกำลังกาย


    เป็นที่รู้กันดีอยู่แล้วว่า "น้ำ" เป็นองค์ประกอบหลักและมีความสำคัญต่อร่างกายคนเราเป็นอย่างมาก ช่วยในระบบไหลเวียนของเลือด รวมไปถึงช่วยระบายความร้อนจากร่างกาย ซึ่งสำหรับคนออกกำลังเป็นประจำ นั่นคืออีกเหตุผลที่เรา...ขาดน้ำไม่ได้เด็ดขาด

     น้ำกับร่างกาย

              โดยปกติแล้วร่างกายคนเราจะมีการสูญเสียน้ำประมาณวันละ 2,300 มิลลิลิตร ทั้งการสูญเสียน้ำทางปัสสาวะ 1,400 มิลลิลิตร ทางอุจจาระ 100 มิลลิลิตร ระเหยออกทางเหงื่อและลมหายใจ 800 มิลลิลิตรโดยประมาณ ดังนั้นร่างกายจึงจำเป็นจะต้องได้รับน้ำจากภายนอกประมาณวันละ 2,000 มิลลิลิตร หรือประมาณ 6-8 แก้วต่อวัน จึงจะเกิดความสมดุลของน้ำภายในร่างกาย

              แต่ในขณะที่ระหว่างการออกกำลังกายจะมีการสูญเสียน้ำเพิ่มขึ้น เนื่องจากการระเหยของเหงื่อเพื่อระบายความร้อนออกจากร่างกาย แม้ว่าไตจะได้ทำหน้าที่ดูดน้ำกลับแล้วก็ตาม แต่ก็ยังไม่สามารถชดเชยได้เพียงพอ ยิ่งถ้าออกกำลังกายท่ามกลางอากาศที่ร้อนและอบอ้าว อาจมีการสูญเสียน้ำออกจากร่างกายได้มากถึง 3 ลิตรได้ ดังนั้นระหว่างการออกกำลัง
    กาย จำเป็นต้องดื่มน้ำให้เพียงพอเพื่อให้เซลล์กล้ามเนื้อทำหน้าที่ได้อย่างสมบูรณ์


       ผลกระทบของการขาดน้ำ

                 ระบบการไหลเวียนเลือดบกพร่อง ทั้งการลำเลียงสารอาหาร-ออกซิเจนให้แก่เซลล์กล้ามเนื้อ และประสิทธิในการระบายของเสียรวมไปถึงความร้อนออกจากเซลล์ลดลง

                 การทำงานของเซลล์กล้ามเนื้อลดลงและกล้ามเนื้อจะอ่อนล้าง่าย

                 การระบายความร้อนออกจากร่างกายลดลง อุณหภูมิร่างกายขึ้นสูงจนเกิดการเจ็บป่วยได้

       วิธีการให้น้ำในการออกกำลังกาย

                 ก่อนออกกำลังกาย ประมาณ 20 นาที ควรดื่มน้ำเย็นที่สะอาดประมาณ 400 มิลลิลิตร ซึ่งกว่าน้ำจะผ่านจากกระเพาะลงสู่ลำไส้เล็กเพื่อถูกดูดซึมจะใช้เวลาประมาณ 30 นาที ไม่ควรดื่มน้ำมาก ๆ ทันทีก่อนออกกำลังกาย เพราะจะทำให้จุกเสียดท้องและยังไม่ถูกดูดซึมจากลำไส้ด้วย

                 ระหว่างออกกำลังกาย ถ้าใช้เวลาน้อยกว่า 30 นาที ไม่จำเป็นต้องดื่มน้ำในระหว่างนี้ ให้ดื่มเมื่อการออกกำลังกายสิ้นสุดทันที แต่ถ้าใช้เวลานานกว่า 30 นาที ควรดื่มน้ำทดแทนเป็นระยะ ๆ ให้ดื่มครั้งละน้อย ๆ แต่บ่อย ๆ เพื่อไม่ให้เกิดอาการจุกแน่น

                 หลังการออกกำลังกาย ประมาณ 30 นาทีปริมาณน้ำที่ควรดื่มทดแทน ประมาณ 500 มิลลิลิตร เพื่อทดแทนน้ำที่สูญเสียไปกับเหงื่อ